การตกปลาแบบ Jigging
คันเบ็ดและรอก คันเบ็ดและรอกที่สามารถนำไปใช้กับงานตกปลาแบบ Jigging นั้นสามารถใช้ได้ทั้งชุดแบบสปินนิ่ง และชุดเบทคาสติ้ง หลักการเลือกใช้คันและรอกจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติดังต่อไปนี้
คันเบ็ดไม่ว่าจะเป็นคันแบบเบทคาสติ้งหรือสปินนิ่ง
– น้ำหนักคันต้องเบา เพราะการตกปลาแบบ Jigging นักตกปลาจะต้องถือคันเบ็ดไว้ตลอดเวลา
– ความยาวที่เหมาะสม ระหว่าง 5 ฟุต ถึง 6 ฟุต 6 นิ้ว ถ้าสั้นกว่านี้จะสร้าง Action ให้กับเหยื่อได้ยาก และถ้ายาวกว่านี้ น้ำหนักก็จะเพิ่มมากขึ้น คันเบ็ดที่ใช้จะเป็นแบบท่อนเดียวหรือคันแบบสองท่อนก็ได้ ในปัจจุบันบ้านเรานิยมใช้คันเบ็ดแบบสองท่อน โดยมีข้อต่อที่ส่วนบนของด้ามจับ (fore grip) ด้ามจับส่วนใหญ่จะเป็นยาง EVA ที่มีน้ำหนักเบา
– ไกด์ จะต้องรองรับการเสียดสีของสายในรอก ที่ส่วนใหญ่จะใช้สาย PE Dyneema หรือสายเชือกถัก ซึ่งสายเหล่านี้จะไม่ลื่นเหมือนกับสายเอ็นทั่วไป ส่วนใหญ่วงไกด์ที่นิยมใช้กัน จะมีวงในเป็นซิลิคอน คาร์ไบท์ (SIC) นอกจากนั้นจะต้องพิจารณาขนาดของวงไกด์ตัวแรกให้มีขนาดใหญ่มากพอที่จะลดแรงเสียดทานของสายจากรอก ถ้าเป็นคันแบบสปินนิ่งโดยทั่วไปนิยมใช้วงไกด์ขนาด 40 มิลลิเมตร (เรียกย่อๆ ว่าไกด์เบอร์ 40) ส่วนไกด์ตัวอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นจะไล่เรียงกันจากใหญ่ไปหาเล็ก เช่น 40-30-25-20-16-12 เป็นต้น ส่วนไกด์ตัวสุดท้ายที่เรียกว่าทิปทอปนั้นควรมีวงในไม่ต่ำกว่า 10 มิลลิเมตร หรือเบอร์ 10 ทั้งนี้เนื่องจากชัดปลายสายส่วนใหญ่จะใช้สาย Fluorocarbon หรือสายโมโนทั่วไป ขนาด 80-150 ปอนด์ ต่อเข้ากับสายในรอก ซึ่งถ้าไกด์ตัวปลายหรือไกด์รองลงมา มีขนาดเล็กจะทำให้สายหน้าสะดุดกับวงไกด์ได้ ส่วนคันแบบเบทคาสติ้ง ส่วนใหญ่จะใช้ไกด์เรียงลำดับกันดังนี้ 25-20-16-12-12-12-10 เป็นต้น ความแข็งแรงของคันจะต้องรองรับกับขนาดของสายในรอกได้ โดยส่วนใหญ่คันประเภทนี้จะบอกขนาดสายเป็น PE เช่นขนาด PE 4-6,5-8,6-10 เป็นต้น สำหรับบ้านเรา ส่วนมากนักตกปลาจะใช้คันเบ็ดที่รองรับสาย PE 4-6 และ 5-8 หากจะเทียบก็ประมาณขนาดแรงดึงเป็นปอนด์ ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 20-40 และ 30-60 ปอนด์ เป็นต้น
รอกไม่ว่าจะเป็นแบบเบทคาสติ้งหรือแบบสปินนิ่ง
– ความสามารถสูงสุดของแดรก (Max Drag) ที่สามารถหยุดสายไม่ให้ไหลออกจากรอก ทั้งนี้ความสามารถของแดรกจะสัมพันธ์โดยตรงกับความแข็งแรงของรอก กล่าวคือ รอกที่มี Max Drag สูง จะมีความแข็งแรงและมีราคาสูงกว่ารอกที่มี Max Drag ต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรอกรุ่นที่ดีที่สุดของแต่ละยี่ห้อ เช่น รุ่น Stella ของ Shimano หรือรุ่น Saltica ของ Daiwa ในแบบสปินนิ่ง
– ขนาดของรอก จะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับสายในรอก โดยส่วนใหญ่นักตกปลาบ้านเราจะเลือกใช้รอกที่จุสายได้ไม่น้อยกว่า 200 เมตร สำหรับการตกปลาน้ำลึกเกิน 100 เมตร ซึ่งขนาดของรอกจะต้องคำนึงถึงความลึกของน้ำที่จะตกปลาเป็นหลัก
– อัตราทด (Gear Ratio) รอกที่เหมาะกับการตกปลาประเภทนี้ ควรจะมีอัตราทดสูง ทังนี้เพื่อการเก็บสายและการสร้าง Action ให้กับตัวเหยื่อทำได้ง่าย ซึ่งรอกที่เหมาะกับงานชนิดนี้ ควรจะมีอัตราทด 5:0:1 ขึ้นไป
– ตัวอย่างของรอกประเภทนี้ ถ้าเป็นแบบสปินนิ่งของ Shimano ได้แก่
Stella SW 8000 PG MAX Drag=20 kg. Line Capacity PE 5=250 m. Gear Ratio 5:0:1
Stella SW 10000 HG MAX Drag= 30 kg. Line Capacity PE 6=250 m. Gear Ratio 6:0:1
Stella SW 20000 PG MAX Drag= 30 kg. Line Capacity PE 8=350 m. Gear Ratio 4:4:1
นอกจากนี้ ยังมีรุ่นรองๆ ลงไปของ Shimano ที่ผลิตขึ้นมาเพื่องานนี้โดยตรง เช่น Twinpower 6000-8000 PG, Biomaster 6000-8000 PG, Ultegra 6000-8000 PG และ Navi 6000-8000 PG เป็นต้น
ส่วนตัวอย่างของรอกในแบบเบทคาสติ้ง ของ Shimano ได้แก่
Jigger NR 2000P MAX Drag=7 kg. line Capacity PE 5=220 m. Gear Ratio 5:1:1
Jigger 3000P MAX Drag=7 kg. line Capacity PE 6=330 m. Gear Ratio 5:1:1
ส่วนรุ่นถัดลงมาของ Shimano ที่ผลิตขึ้นมาเพื่องานนี้โดยตรง เช่น Trinidad 12-16, Torium 16-20 ส่วนยี่ห้ออื่นๆ นั้นนักตกปลาสามารถเทียบเคียงจากคุณสมบัติข้างต้นได้
สายในรอกและสายหน้า
– สายที่ใส่ในรอกที่เหมาะกับการตกปลาแบบ Jigging ควรจะเป็นสายที่มีอัตราการยืดตัวต่ำหรือไม่มีเลย และควรมีหน้าตักขนาดเล็กแต่สามารถรับแรงดึงได้สูง ส่วนใหญ่นักตกปลานิยมใช้สายเชือกถัก เช่น สาย PE (Phycoerythrin) หรือสาย Spectra. หรือสาย Braid หรือสาย Dyneema เป็นต้น แต่ทั้งนี้สาย PE ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งสังเกตได้จากบริษัทผู้ผลิตทั้งคันเบ็ดและรอก ต่างได้ถือเอาความสามารถเช่นความจุของสายที่ระบุเป็นเบอร์ของ PE หรือคันเบ็ดที่ระบุความแข็งของคันเป็นขนาด PE สำหรับบ้านเรานิยมใช้สาย PE4-8 หรือเทียบเคียงได้ประมาณ 30-60 ปอนด์
– สายหน้าที่เป็นส่วนต่อระหว่างสายในรอกและตัวเหยื่อนิยมใช้สาย Fluorocarbon Leader หรือสาย Mono Leader ที่มีขนาด 80-150 ปอนด์ ความยาวไม่น้อยกว่า 2 เมตร ทั้งนี้สาย Fluorocarbon จะกลมกลืนไปกับน้ำ ทำให้ปลามองไม่เห็น ประกอบกับสายชนิดนี้มีอัตราการยืดตัวต่ำ และไม่ขดเป็นวง ทำให้การวัดปลามีประสิทธิภาพมากกว่าสายลีดเดอร์โมโนธรรมดา ส่วนการต่ดสายในรอก (PE) เข้ากับสายหน้าจะต้องใช้เงื่อนต่อสายที่มีความมั่นคงแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เงื่อน GT Knot และเงื่อน Albright Knot เป็นต้น ส่วนการต่อสายหน้าเข้ากับเหยื่อ Jigs สามารถทำได้ทั้งการใช้เงื่อนต่อแบบ Rapala Knot หรือใช้ clip ที่มีขนาดแข็งแรงก็ได้
นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการตกปลาแบบ Jigging ได้แก่ เข็มขัดสู้ปลา ถุงมือ คีมสำหรับเปลี่ยนตัวเบ็ด ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พอจะเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจการตกปลาแบบ Jigging ได้ทราบรายละเอียดและเทคนิคพื้นฐานได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้การตกปลาแบบ Jigging จะมีนักตกปลาอยู่จำนวนจำกัดและสถานที่ที่ได้รับความนิยมในเวลานี้จะมีเฉพาะทะเลฝั่งอันดามัน แต่ด้วยกระแสความนิยมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนมั่นใจว่าต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้คงจะมีการตกปลาแบบนี้ทางฝั่งอ่าวไทย ซึ่งจะว่าไปแล้วชนิดและปริมาณของปลาทางฝั่งอ่าวไทย ยังคงมีให้นักตกปลาได้ตกประลองฝีมือกันได้บ้างไม่มากก็น้อย